อธิบายปัตตจตุกกะเป็นอุทาหรณ์

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

อธิบายปัตตจตุกกะเป็นอุทาหรณ์

 

เล่ม ๓ หน้า ๙๖๘-๙๗๐ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๙๑๔-๙๑๕ (ปกสีแดง)

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓

 

บางส่วนของ พรรณนารูปิยสัพโยหารสิกขาบท

 

[อธิบายปัตตจตุกกะเป็นอุทาหรณ์]

 

          อนึ่ง ผู้ศึกษาพึงทราบปัตตจตุกกะนี้

อันแสดงถึงความที่รูปิยสัพโยหารสิกขาบทนี้หนัก.

ความพิสดารว่า ภิกษุใด รับเอารูปิยะ

แล้วจ้างให้ขุดแร่เหล็กขึ้นด้วยรูปิยะนั้น,

ให้ช่างเหล็กถลุงแร่เหล็กนั้น แล้วให้ทำบาตรด้วยโลหะนั้น.

บาตรนี้ ชื่อว่า เป็นมหาอกัปปิยะ

ภิกษุนั้นไม่อาจทำให้เป็นกัปปิยะได้ด้วยอุบายไร ๆ.

ก็ถ้าว่า ทำลายบาตรนั้นแล้วให้ช่างทำกระถาง.

แม้กระถางนั้นก็เป็นอกัปปิยะ.

ให้กระทำมีด แม้ไม้สีฟันที่ตัดด้วยมีดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ.

ให้กระทำเบ็ด

แม้ปลาที่เขาให้ตายด้วยเบ็ดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ.

ภิกษุให้ช่างเผาตัวมีดให้ร้อนแล้ว แช่น้ำ หรือนมสดให้ร้อน.

แม้น้ำและนมสดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะเช่นกัน.

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๖๙ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

          ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า

ก็ภิกษุใด รับรูปิยะแล้วซื้อบาตรด้วยรูปิยะนั้น,

แม้บาตรนี้ของภิกษุนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ

ไม่สมควรแม้แก่สหธรรมิกทั้ง ๕.

แต่ภิกษุนั้นอาจทำบาตรนั้น ให้เป็นกัปปิยะได้.

จริงอยู่ บาตรนั้น จะเป็นกัปปิยะได้

ต่อเมื่อให้มูลค่าแก่เจ้าของมูลค่า

และเมื่อให้บาตรแก่เจ้าของบาตร.

ภิกษุจะให้กัปปิยภัณฑ์แล้วรับเอาไปใช้สอยสมควรอยู่.

          ฝ่ายภิกษุใด ให้รับเอารูปิยะไว้แล้ว

ไปยังตระกูลช่างเหล็กกับด้วยกัปปิยการก

เห็นบาตรแล้วพูดว่า บาตรนี้ เราชอบใจ.

และกัปปิยการกให้รูปิยะนั้นแล้ว ให้ช่างเหล็กตกลง.

แม้บาตรใบนี้ อันภิกษุนั้นถือเอาโดยกัปปิยโวหาร

เป็นเช่นกับบาตรใบที่ ๒ นั่นเอง

จัด เป็นอกัปปิยะเหมือนกัน เพราะภิกษุรับมูลค่า.

          ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่ควรแก่สหธรรมิกที่เหลือ ?

          แก้ว่า เพราะไม่เสียสละมูลค่า.

          อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รับรูปิยะไปยังตระกูลช่างเหล็ก

พร้อมกับกัปปิยการกที่ทายกส่งมาว่า

ท่านจงซื้อบาตรถวายพระเถระ

เห็นบาตรแล้ว ให้กัปปิยการกจ่ายกหาปณะว่า

เธอจงรับเอากหาปณะเหล่านี้แล้ว

ให้บาตรนี้แล้วได้ถือเอาไป.

บาตรนี้ ไม่ควรแก่ภิกษุรูปนี้เท่านั้น เพราะจัดการไม่ชอบ,

แต่ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น เพราะไม่ได้รับมูลค่า.

          ได้ทราบว่า อุปัชฌาย์ของพระมหาสุมเถระ

มีชื่อว่าอนุรุทธเถระ.

ท่านบรรจุบาตรเห็นปานนี้ของตน

ให้เต็ม ด้วยเนยใสแล้ว สละแก่สงฆ์.

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๗๐ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

พวกสัทธิวิหาริกแม้ของพระจุลนาคเถระผู้ทรงไตรปิฎก

ก็ได้มีบาตรเช่นนั้นเหมือนกัน.

พระเถระสั่งให้บรรจุบาตรนั้นให้เต็ม

ด้วยเนยใสแล้วให้เสียสละแก่สงฆ์ ดังนี้แล.

นี้ชื่ออกัปปิยปัตตจตุกกะ.

ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่รับรูปิยะไปสู่ตระกูล แห่งช่างเหล็ก

พร้อมด้วยกัปปิยการกที่ทายกส่งมาว่า

เธอจงซื้อบาตรถวายพระเถระ

เห็นบาตรแล้วกล่าวว่า

บาตรนี้เราชอบใจ หรือว่า เราจักเอาบาตรนี้,

และกัปปิยการกจ่ายรูปิยะนั้นให้แล้ว

ให้ช่างเหล็กยินยอมตกลง.

บาตรนี้สมควรทุกอย่าง

ควรแก่การบริโภคแม้แห่งพระพุทธทั้งหลาย.

 

http://www.tripitaka91.com/3-968-12.html