วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย 

 

เล่ม ๓ หน้า ๘๖๓-๘๖๕ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๘๑๓-๘๑๕ (ปกสีแดง)

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓

 

[วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย] 

 

          ถ้าใคร ๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า

ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์,

ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์

หรือหอฉันเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม,

จะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร.

ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า

ด้วยว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

ผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น.

ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า

ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร.

เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกร,

ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดี และไม่ดีอย่างเดียว

ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้ หรือพวกกรรมกรเหล่านั้นจึงหลีกไป,

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๔ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

จะรับก็ควร,

ถ้าแม้น เขากล่าวว่า

ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง,

หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง,

ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคล

ผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว,

แม้อย่างนี้ก็ควร.

          ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า

ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงิน และทองนี้แก่เจดีย์,

ถวายแก่วิหาร,

ถวายเพื่อนวกรรม ดังนี้

จะปฏิเสธไม่สมควร.

พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้.

แต่เมื่อเขากล่าวว่า

ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์ เป็นต้นเถิด

พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ไม่สมควร.

        แต่ถ้าคนบางคนนำเอาเงิน และทองมามากกล่าวว่า

ข้าพเจ้าขอถวายเงินและทองนี้แก่สงฆ์,

ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด,

ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น

เป็นอาบัติทั้งเพราะรับทั้งเพราะบริโภค.

ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น

ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร.

และอุบาสกกล่าวว่า

ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป,

ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไร ๆ ว่า

เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์,

เพราะภิกษุใดโจทเธอ,

ภิกษุนั่นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว.

แต่เธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ.

ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่าไม่ควร

เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก

หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม,

ท่านทั้งหลาย จงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้,

สมควรอยู่.

          อนึ่ง เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย

พึงน้อมไปเพื่อปัจจัยที่ต้องการ.

เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น.

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๕ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น,

สงฆ์ลำบากด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้น

พึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไป

แม้เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น.

แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวาย

เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็นัยนี้.

          อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ

พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์.

ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุละทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย,

ในกาลเช่นนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย

แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้วบริโภค (ปัจจัย) ได้.

          เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้

ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่าพึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป.

และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น,

แม้อกัปปิยวัตถุอื่นมีนาและสวนเป็นต้น อันภิกษุไม่ควรรับ.

 

http://www.tripitaka91.com/3-863-13.html