วิธีเสียสละรูปิยะ

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

วิธีเสียสละรูปิยะ

 

เล่ม ๓ หน้า ๙๔๑-๙๔๓ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๘๘๘-๘๙๐ (ปกสีแดง)

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓

 

          ที่ชื่อว่า  ทอง  ตรัสหมายทองคำ

          ที่ชื่อว่า  เงิน  ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ

มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง

ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้.

          บทว่า  รับ  คือ รับเอง เป็นนิสสัคคีย์.

          บทว่า  ให้รับ  คือ ให้คนอื่นรับแทน เป็นนิสสัคคีย์.

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๒ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

          บทว่า  หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้  ความว่า

หรือยินดีทองเงินที่เขาเก็บไว้ให้ด้วยบอกว่า

ของนี้จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้เป็นต้น เป็นนิสสัคคีย์

ทอง เงิน ที่เป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ก็แลภิกษุพึงเสียสละรูปิยะนั้น อย่างนี้:-

 

วิธีเสียสละรูปิยะ

 

          ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า

กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า

นั่งกระโหย่งเท้าประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

          ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว

ของนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ

ข้าพเจ้าสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์

           ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ

ถ้าคนผู้ทำการวัด หรืออุบาสก

เดินมาในสถานที่เสียสละนั้น

พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้

ถ้าเขาถามว่า จะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา

อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา

ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น

เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย

ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย

เว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป

ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า

โปรดช่วยทิ้งของนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้

พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๓ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

 

          องค์ ๕ นั้น คือ

๑.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ

๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง

๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย

๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว และ

๕. รู้จักว่าทำอย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุนั้น อย่างนี้:-

 

วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

 

          พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน

ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ

พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

 

คำสมมติ

 

          ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว

สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ

          ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

          ภิกษุมีชื่อนี้

สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์

เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้

          ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงทิ้งอย่าหมายที่ตก

ถ้าทิ้งหมายที่ตกต้องอาบัติทุกกฏ.

 

http://www.tripitaka91.com/3-942-1.html