พระขีณาสพที่ฟังมาน้อยไม่ฉลาดในพุทธบัญญัติ ย่อมต้องอาบัติเพราะรับเงินรับทอง ในทางมโนทวารด้วยอำนาจยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน.

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

“พระขีณาสพที่ฟังมาน้อย

ไม่ฉลาดในพุทธบัญญัติ

ย่อมต้องอาบัติเพราะรับเงินรับทอง

ในทางมโนทวาร

ด้วยอำนาจยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน.”

 

“พระขีณาสพมีกายสมาจารเป็นต้น

บริสุทธิ์ไม่เท่ากับพระตถาคต.”

 

เล่ม ๑๖ หน้า ๓๐๒-๓๐๓ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๒๘๘-๒๘๙ (ปกสีแดง)

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒

 

บางส่วนของ อรรถกถาสังคีติสูตร

 

ถามว่า พระขีณาสพอื่น ๆ มีกายสมาจารเป็นต้น

ไม่บริสุทธิ์กระนั้นหรือ

ตอบว่า ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์

เพียงแต่ว่าบริสุทธิ์ไม่เท่ากับพระตถาคต.

พระขีณาสพที่ฟังมาน้อย

ย่อมไม่ต้องอาบัติที่เป็นโลกวัชชะ ก็จริงอยู่,

แต่เพราะไม่ฉลาดในพุทธบัญญัติ

ก็ย่อมจะต้องอาบัติในกายทวาร

ประเภททำวิหาร ทำกุฏิ ( คลาดเคลื่อนไปจากพุทธบัญญัติ )

อยู่ร่วมเรือน นอนร่วมกัน ( กับอนุปสัมบัน เป็นต้น ).

ย่อมต้องอาบัติในวจีทวารประเภทชักสื่อ

กล่าวธรรมโดยบท พูดเกินกว่า ๕-๖ คำ

บอกอาบัติที่เป็นจริง ( เป็นต้น ).

ย่อมต้องอาบัติเพราะรับเงินรับทอง

ในทางมโนทวาร

ด้วยอำนาจยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน.

แม้พระขีณาสพ ขนาดพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร

ก็ยังเกิดมโนทุจริตขึ้นได้

ด้วยอำนาจที่นึกตำหนิ ในมโนทวาร.

เมื่อศากยะปาตุเมยยกะ ขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้า

เพื่อประโยชน์แก่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

ในคราวที่ทรงประณาม พระเถระทั้งสองนั้น

พร้อมกับภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ในเรื่องปาตุมะ

พระเถระ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า.

" เธอคิดอย่างไร สารีบุตร เมื่อภิกษุสงฆ์ถูกเราประณามแล้ว".

ดังนี้ ก็ให้เกิดความคิดขึ้นว่า

"เราถูกพระศาสดาประณาม เพราะไม่ฉลาดเรื่องบริษัท.

ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจะไม่สอนคนอื่นละ"

จึงได้กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า "

ภิกษุสงฆ์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประณามแล้ว,

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จักทรงขวนขวายน้อย

ประกอบทิฐธรรมสุขวิหารธรรมอยู่ แม้เราทั้งสองก็จัก

 

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๐๓ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ขวนขวายน้อย ประกอบทิฐธรรมสุขวิหารธรรมอยู่.

ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงยกข้อตำหนิ

เพราะมโนทุจริตนั้น ของพระเถระ จึงตรัสว่า

"เธอจงรอก่อนสารีบุตร.

ความคิดอย่างนี้ไม่ควรที่เธอจะให้เกิดขึ้นอีกเลยสารีบุตร".

แม้เพียงความคิดว่า

"เราจะไม่ว่ากล่าวสั่งสอนคนอื่น อย่างนี้"

ก็ชื่อว่าเป็นมโนทุจริต ของพระเถระ

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมไม่มีพระดำริเช่นนั้น

และการที่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว

จะไม่พึงมีทุจริตนั้น ไม่ใช่ของน่าอัศจรรย์.

แม้แต่ดำรงอยู่ในภูมิแห่งพระโพธิสัตว์

ทรงประกอบความเพียรอยู่ ๖ ปี พระองค์ก็มิได้มีทุจริต.

แม้เมื่อเหล่าเทวดาเกิดความสงสัยขึ้นอย่างนี้ว่า

"หนังท้องติดกระดูกสันหลัง (อย่างนี้)

พระสมณโคดม ถึงแก่การดับสูญ ( เสียละกระมัง )"

เมื่อถูกมารใจบาป กล่าวอยู่ว่า

" สิทธัตถะ ท่านจะต้องมาลำบากลำบนทำไม

ท่านสามารถที่จะเสวยโภคสมบัติไปด้วย

สร้างบุญกุศลไปด้วยได้" ดังนี้

แม้เพียงความคิดว่า

"เราจัก ( กลับไป ) เสวยโภคสมบัติ" ก็ไม่เกิด.

ครั้นแล้ว มารก็ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในเวลาที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ถึง ๖ ปี

ในเวลาที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อีก ๑ ปี

ก็มิได้เห็นโทษผิดอันหนึ่งอันใด

จึงกล่าวความข้อนี้ไว้ แล้วหลบไป ว่า

                    " เราติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปทุกย่างก้าว

          ตลอดเวลา ๗ ปี ก็มิได้เห็นข้อบกพร่องใด ๆ

          ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระสติไพบูลย์นั้นเลย"

  

http://www.tripitaka91.com/16-302-3.html