พระพุทธเจ้าเปรียบเงินเหมือนอสรพิษร้าย

ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)

 

พระพุทธเจ้าเปรียบเงินเหมือนอสรพิษร้าย

 

เล่ม ๔๑ หน้า ๑๙๙-๒๐๓ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๑๖๕-๑๖๘ (ปกสีแดง)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒

 

๘.  เรื่องชาวนา  [๕๒]

ข้อความเบื้องต้น

 

          พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน

ทรงปรารภชาวนาคนหนึ่ง

ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  "น  ตํ  กมฺมํ  กตํ  สาธุ"  เป็นต้น.

 

โจรเข้าลักทรัพย์ในตระกูลมั่งคั่ง

 

          ได้ยินว่า ชาวนานั้นไถนาแห่งหนึ่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี.

พวกโจรเข้าไปสู่พระนครโดยท่อน้ำ

ทำลายอุโมงค์ในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง

เข้าไปถือเอาเงินและทองเป็นอันมาก

แล้วก็ออกไปโดยทางท่อน้ำนั่นเอง.

โจรคนหนึ่ง ลวงโจรเหล่านั้น 

กระทำถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งถุงหนึ่งไว้ที่เกลียวผ้าแล้ว

ไปถึงนานั้น แบ่งภัณฑะกับโจรทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ถือพาเดินไปอยู่

ไม่ได้กำหนดถึงถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งที่ตกลงจากเกลียวผ้า.

 

พระศาสดาทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของชาวนา

 

          ในวันนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตว์โลก 

ทรงเห็นชาวนานั้น ผู้เข้าไปในภายในข่ายคือพระญาณของพระองค์

แล้วทรงใคร่ครวญอยู่ว่า

"เหตุอะไรหนอแล ? จักมี"

ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า 

" ชาวนาคนนี้ จักไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่,

แม้พวกเจ้าของภัณฑะ ไปตามรอยเท้าของโจรทั้งหลายแล้ว

เห็นถึงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งในนาของ

 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท 

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๐๐ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

ชาวนานั้น แล้วก็จักจับชาวนานั่น,

เว้นเราเสีย คนอื่นชื่อว่าผู้เป็นพยานของชาวนานั้นจักไม่มี;

แม้อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของชาวนานั้นก็มีอยู่,

เราไปในที่นั้น ย่อมควร."

ฝ่ายชาวนานั้น ไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่. 

พระศาสดามีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ

ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว.

ชาวนาเห็นพระศาสดาแล้ว ไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

แล้วเริ่มไถนาอีก.

พระศาสดา ไม่ตรัสอะไร ๆ กับเขา 

เสด็จไปยังที่ ๆ ถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งตก

ทอดพระเนตรเห็นถุงนั้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนท์เถระว่า

"อานนท์ เธอเห็นไหม อสรพิษ."

พระอานนท์เถระทูลว่า 

"เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย."

ชาวนาได้ยินถ้อยคำนั้น คิดว่า 

" ที่นี้เป็นที่เที่ยวไปในเวลาหรือมิใช่เวลาแห่งเรา.

ได้ยินว่า อสรพิษมีอยู่ในที่นั่น "

เมื่อพระศาสดาตรัสคำมีประมาณเท่านั้นหลีกไปแล้ว, 

จึงถือเอาด้ามปฏักเดินไปด้วยตั้งใจว่า

" จักฆ่าอสรพิษนั้น เห็นถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่ง แล้วคิดว่า "

คำนั้น จักเป็นคำอันพระศาสดาตรัสหมายเอาถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนี้ "

จึงถือถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนั้นกลับไป

เพราะความที่ตนเป็นคนไม่ฉลาด จึงซ่อนมันไว้ในที่สมควรแห่งหนึ่ง

กลบด้วยฝุ่นแล้วเริ่มจะไถนาอีก.

 

ชาวนาถูกจับไปประหารชีวิต

 

          แม้พวกมนุษย์ เมื่อราตรีสว่างแล้ว 

เห็นกรรมอันพวกโจรกระทำในเรือน

จึงเดินตามรอยเท้าไปถึงนานั้นแล้ว

เห็นที่ ๆ  พวกโจรแบ่งภัณฑะกันในนานั้น

ได้เห็นรอยเท้าของชาวนาแล้ว.

มนุษย์เหล่านั้นไปตามแนวรอยเท้าของชาวนานั้น 

เห็นที่แห่งถุงทรัพย์ที่ชาวนาเก็บเอาไว้

 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๐๑ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

คุ้ยฝุ่นออกแล้ว ถือเอาถุงทรัพย์ คุกคามว่า

"แกปล้นเรือนแล้ว เทียวไปราวกับไถนาอยู่"

โบยด้วยท่อนไม้ นำไปแสดงแก่พระราชาแล้ว.

พระราชา ทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว

จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตชาวนานั้น.

พวกราชบุรุษ มัดชาวนานั้นให้มีแขนไพล่หลัง

เฆี่ยนด้วยหวายนำไปสู่ตะแลงแกงแล้ว.

ชาวนานั้นถูกราชบุรุษเฆี่ยนด้วยหวาย

ไม่กล่าวคำอะไร ๆ อื่น กล่าวอยู่ว่า

"เห็นไหม อานนท์ อสรพิษ,

'เห็นพระเจ้าข้า อสรพิษร้าย " เดินไปอยู่.

ครั้งนั้น พวกราชบุรุษ ถามเขาว่า

" แกกล่าวถ้อยคำของพระศาสดาและพระอานนทเถระเท่านั้น,

นี่ชื่ออะไร ?"

เมื่อชาวนาตอบว่า

"เราเมื่อได้เฝ้าพระราชาจึงจักบอก,"

จึงนำไปสู่สำนักของพระราชา

กราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระราชาแล้ว.

 

ชาวนาพ้นโทษเพราะอ้างพระศาสดาเป็นพยาน

 

          ลำดับนั้น พระราชา ตรัสถามชาวนานั้นว่า

"เพราะเหตุไร เจ้าจึงกล่าวดังนั้น ?"

แม้ชาวนานั้น กราบทูลว่า

"ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ใช่โจร"

แล้วก็กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดแด่พระราชา

จำเดิมแต่กาลที่ตนออกไปเพื่อต้องการจะไถนา.

พระราชา ทรงสดับถ้อยคำของชาวนานั้นแล้ว ตรัสว่า 

" พนาย ชาวนานี้อ้างเอาพระศาสดาผู้เป็นบุคคลเลิศในโลกเป็นพยาน,

เราจะยกโทษแก่ชาวนานี่ยังไม่สมควร,

เราจักรู้สิ่งที่ควรกระทำในเรื่องนี้"

ดังนี้แล้ว ทรงพาชาวนานั้นไปยังสำนักของพระศาสดาในเวลาเย็น

ทูลถามพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค

พระองค์ได้เสด็จไปสู่ที่ไถนาของชาวนานั้นกับพระอานนท์เถระแลหรือ ?"

          พระศาสดา.  ขอถวายพระพร  มหาบพิตร.

 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท 

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๐๒ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

          พระราชา.  พระองค์ทอดพระเนตรเห็นอะไรในนานั้น ?

          พระศาสดา.   ถุงทรัพย์พันหนึ่ง มหาบพิตร.

          พระราชา.  ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้ตรัสคำอะไร ?

          พระศาสดา.  คำชื่อนี้ มหาบพิตร.

          พระราชา.  พระเจ้าข้า ถ้าบุรุษนี้จักไม่ได้กระทำการอ้าง

บุคคลผู้เช่นกับด้วยพระองค์แล้วไซร้, เขาจักไม่ได้ชีวิต.

แต่เขากล่าวคำที่พระองค์ตรัสแล้ว จึงได้ชีวิต.

 

ไม่ควรทำกรรมที่ให้ผลเดือดร้อนในภายหลัง

 

          พระศาสดา ทรงสดับพระราชดำรัสนั้นแล้ว ตรัสว่า

"ขอถวายพระพร มหาบพิตร,

แม้ตถาคตกล่าวคำมีประมาณเท่านั้นนั่นเองแล้วก็ไป,

ความตามเดือดร้อนในภายหลังย่อมมีเพราะกระทำกรรมใด

กรรมนั้นผู้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตไม่พึงกระทำ "

ดังนี้ เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม

จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

                    ๘.  น  ตํ  กมฺมํ   กตํ  สาธุ     ยํ  กตฺวา   อนุตปฺปติ

          ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ              วิปากํ ปฏิเสวติ.

                    "บุคคลกระทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

          เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้เสวยผลของกรรมใดอยู่

          กรรมนั้น อันบุคคลกระทำแล้วไม่ดีเลย."

 

แก้อรรถ

 

          บรรดาบทเหล่านั้น

สองบทว่า  ยํ   กตฺวา  ความว่า บุคคลกระทำ

 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท 

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๐๓ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน)

 

กรรมใด คือ อันสามารถจะให้เกิดในอบายภูมิทั้งหลายมีนรกเป็นต้น

ได้แก่มีทุกข์เป็นกำไรเมื่อตามระลึกถึง

ชื่อว่าย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

คือย่อมเศร้าโศกในภายหลัง ในขณะที่ระลึกถึงแล้ว ๆ,

กรรมนั้น อันบุคคลกระทำแล้วไม่ดี

คือไม่งาม ได้แก่ ไม่สละสลวย.

          สองบทว่า  ยสฺส  อสฺสุมุโข  ความว่า

เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตาร้องไห้

ย่อมเสวยผลกรรมใด.

          ในเวลาจบเทศนา อุบาสกชาวนาบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.

แม้ภิกษุผู้ประชุมกันเป็นอันมาก

ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นดังนี้แล.

 

เรื่องชาวนา  จบ.

 

http://www.tripitaka91.com/41-199-1.html

D-study.com

ช่องทางการติดต่อ

facebook FaceBook

phone 0894453994