ข้อมูลจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
(พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕) (ปกสีน้ำเงิน) และ (พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖) (ปกสีแดง)
“บุคคลลางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีลมีธรรมอันลามก
(มีการกระทำ) ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
มีการงานอันปกปิดไม่เป็นสมณะ
แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่เป็นพรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี
เป็นคนเน่าใน เปียกชื้น รกเรื้อ (ด้วยกิเลสโทษ)
บุคคลเช่นนี้ควรเกลียด ไม่ควรเสพ
ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้
นั่นเพราะเหตุอะไร ?
เพราะถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงของบุคคลชนิดนั้น
แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า
เป็นคนมีมิตรชั่ว มีสหายเลว มีเพื่อนทราม
งูที่จมคูถย่อมไม่กัดก็จริงอยู่
ถึงกระนั้นมันก็ทำผู้จับให้เปื้อน ฉันใดก็ดี
ถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงของบุคคลชนิดนั้น
แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า
เป็นคนมีมิตรชั่ว มีสหายเลว มีเพื่อนทราม
ฉันนั้นเหมือนกัน”
"ในบทว่า เอวเมว โข นี้
พึงทราบข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้
ความเป็นผู้ทุศีล พึงเห็นเหมือนหลุมคูถ.
บุคคลผู้ทุศีล พึงเห็นเหมือนงูเรือน
ตัวตกลงไปในหลุมคูถฉะนั้น
ภาวะที่บุคคลพึงจะคบหาบุคคลผู้ทุศีล
(แต่) ไม่ทำตามบุคคลผู้ทุศีลนั้น
พึงเห็นเหมือนภาวะที่บุคคลถูกงูที่เขายกขึ้นจากหลุมคูถ
ไต่ขึ้นสู่ร่างกาย แต่ไม่กัดฉะนั้น
เวลาที่บุคคลคบหาผู้ทุศีล จนชื่อเสียงที่ไม่ดีระบือไปทั่ว
พึงทราบเหมือนเวลาที่เขาถูกงูตัวเปื้อนคูถแล้ว กัดเอาฉะนั้น."
เล่ม ๓๔ หน้า ๘๗-๙๑ (ปกสีน้ำเงิน) / หน้า ๙๐-๙๓ (ปกสีแดง)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓